โรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)
ความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) โรคพิษสุนัขบ้าในคนนิยมเรียก โรคกลัวน้ำ (Hydrophobia) ส่วนในภาษาอีสานเรียก โรคหมาว้อ โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลางที่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต พบในสัตว์เลือดอุ่นทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าและยังติดต่อมาสู่มนุษย์ พาหะนำโรคที่สำคัญที่สุดสู่มนุษย์ และสัตว์อื่นๆ คือ สุนัข รองลงมาคือแมว ในบ้านเรานั้นมีรายงานการเกิดโรคพิษสุนัขบ้า ในโคปีละประมาณ 60 ตัว ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับที่พบในยุโรปหรืออเมริกา ซึ่งมีนับล้านตัวในแต่ละปี พาหะนำเชื้อที่สำคัญในบ้านเราคือ สุนัขพบได้ประมาณร้อยละ 95 แมวร้อยละ 4 สัตว์เลี้ยงพวกโค กระบือ สุกร ม้า และสัตว์ป่าที่เลี้ยงลูกด้วยนมราวร้อยละ 1 สำหรับในแถบประเทศละตินอเมริกานั้น พบพาหะที่สำคัญคือค้างคาวดูดเลือด (Vampire bat) ซึ่งเป็นสาเหตุให้โคตายปีละนับแสนตัว สาเหตุและการติดต่อ เกิดจาก Rabies virus ซึ่งเป็น RNA virus รูปร่างคล้ายกระสุนปืน ปลายด้านหนึ่งโค้งมนและปลายอีกด้านหนึ่งตัดตรงถูกทำลายได้ง่ายด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ การติดเชื้อที่สำคัญที่สุดคือการถูกสัตว์เป็นบ้ากัด เมื่อเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเข้าสู่ร่างกายโดยการถูกกัด ข่วน เลีย หรือน้ำลายสัตว์กระเด็นเข้าแผลรอยขีดข่วน เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือการปลูกถ่ายกระจกตา จากผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า เชื้อจะยังคงอยู่บริเวณนั้นระยะหนึ่ง โดยเพิ่มจำนวนในกล้ามเนื้อ ก่อนจะเดินทางผ่านเข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลาย ไขสันหลัง และเข้าสู่สมอง มีการแบ่งตัวในสมอง พร้อมทำลายเซลล์สมอง และปล่อยเชื้อกลับสู่ระบบขับถ่ายต่างๆ เช่น ต่อมน้ำลาย น้ำปัสสาวะ น้ำตา ตามแขนงประสาทต่างๆ ทำให้เกิดอาการ บางรายเกิดอาการช้านานเกิน 1 ปี บางรายเกิดอาการเร็วเพียง 4 วันเท่านั้น แต่โดยเฉลี่ย 3 สัปดาห์ถึง 4 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ
- จำนวนเชื้อที่เข้าไป บาดแผลใหญ่ ลึก หรือมีหลายแผล มีโอกาสที่เชื้อจะเข้าไปได้มาก
- ตำแหน่งที่เชื้อเข้าไป ถ้าอยู่ใกล้สมองมาก เชื้อก็จะเดินทางไปถึงสมองได้เร็ว ถ้าน้ำลายถูกผิวหนังปกติ ไม่มีรอยข่วนหรือบาดแผล ไม่มีโอกาสติดโรค การติดต่อโดยการหายใจ มีโอกาสน้อยมาก ยกเว้นมีจำนวนไวรัสในอากาศเป็นจำนวน มาก เช่น ในถ้ำค้างคาวนอกจากนั้นติดต่อจากการกินได้ ถ้ามีบาดแผลภายในช่องปากและหลอดอาหาร ซึ่งจะพบกรณีสัตว์กินเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายใหม่ๆ
- อายุคนที่ถูกกัด เด็กและคนชราจะมีความต้านทานของโรคต่ำกว่าคนหนุ่มสาว
- ความรุนแรงของเชื้อ เชื้อจากสัตว์ป่าอันตรายกว่าสัตว์เลี้ยง สุนัขและแมวที่ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า สามารถแพร่เชื้อได้ก่อนแสดงอาการ เพราะ เชื้อจะออกมาในน้ำลายเป็นระยะ ๆ ประมาณ 1-7 วัน ก่อนแสดงอาการ
อาการของโรค
- อาการและอาการแสดงในคน อาการเริ่มแรกของผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีไข้ต่ำ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมามีอาการคัน มักเริ่มจากบริเวณแผลที่ถูกกัด แสบๆ ร้อนๆ แล้วลามไปส่วนอื่น บางคนคันมากจนกลายเป็นแผลอักเสบ มีน้ำเหลือง ผู้ป่วยชายบางรายอาจจะมีอสุจิหลั่งออกมาโดยไม่รู้ตัว ผู้ป่วยหญิงอาจจะพบว่ามีอาการปวดเสียว บริเวณหน้าท้องคล้ายกับจะมีประจำเดือน ต่อมากระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม กลัวน้ำ คือมีอาการอยากดื่มน้ำแต่ดื่มไม่ได้ เพราะดื่มแล้วจะสำลักและแสบหลอดลมอย่างรุนแรง ผู้ป่วยจึงแสดงอาการกลัวน้ำทุกครั้งที่มีผู้ยื่นขันน้ำ หรือแก้วน้ำให้ดื่ม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ หลุกหลิก กระวนกระวาย หนาวสั่น ตามักเบิกโพลงบ่อยๆ บางครั้งเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคทางจิต มีอาการกลืนลำบาก น้ำลายไหล บางคนอาจปวดเท้าและขา กล้ามเนื้อกระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชักเกร็ง อัมพาต หมดสติ และตายในที่สุด แต่ในระยะหลัง โดยเฉพาะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และคณะ พบว่าผู้ป่วยมีอาการได้หลากหลายขึ้น ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 จะมีอาการแขนขาอ่อนแรง อัมพาต หายใจไม่ได้และเข้าใจผิดว่าเป็น ประสาทอักเสบ ทำให้รักษาผิดโดยนำไปเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง รวมทั้งมีอาการหลากหลายอื่นๆ เช่น ไม่มีความแปรปรวนทางอารมณ์ ไม่เอะอะอาละวาด แต่กลับมีหัวใจเต้นผิดปรกติเป็นอาการเด่น หรือมีแขนอ่อนแรงเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีความผิดปรกติอื่นๆ
- อาการและอาการแสดงใสัตว์ กว่าร้อยละ 95 ของผู้ป่วยมีสาเหตุมาจากสุนัข เพราะสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน ที่มีความใกล้ชิด ความผูกพันกับคน ควรหมั่นสังเกตอาการของสัตว์เลี้ยงในบ้านของเราเองว่ามีอาการของโรคนี้หรือไม่ อาการของสุนัขมีทั้งแบบดุร้ายและแบบซึม 1.) ชนิดดุร้าย ถ้าหากล่ามโซ่หรือเลี้ยงไว้ในกรงก็จะมีอาการกระวนกระวาย พยายามหาทางออกโดยการกัดโซ่ กัดกรงขังจนเลือดออกโดยไม่แสดงอาการเจ็บปวด วิ่งไปโดยไร้จุดหมาย กัดคน กัดสัตว์ทุกชนิดที่ขวางหน้า น้ำลายฟูมปาก คางห้อย หางตก แววตาน่ากลัว หลังจากนั้นก็จะเริ่มมีอาการอัมพาต ขาหลังไม่มีแรง วิ่งลำบากขึ้น วิ่งไปล้มไป เมื่อมีอาการอัมพาตมากขึ้น ขาหน้าก็จะหมดแรง แล้วค่อยๆ ล้มลงหมดสติและตายภายใน 3-6 วัน หลังจากแสดงอาการ ส่วนในแมวจะแสดงอาการดุร้ายมากกว่าสุนัข มีอาการพองขน กางอุ้งเล็บออก มีลักษณะหวาดระแวง เตรียมพร้อมที่จะสู้อยู่ตลอดเวลา ส่งเสียงดังเป็นพักๆ มีอาการราว 2-4 วัน ก็จะเริ่มเป็นอัมพาต เคลื่อนไหวได้ช้าลง หมดสติและตายในที่สุด 2.) ชนิดเซื่องซึม จะสังเกตได้ยาก เพราะแสดงอาการป่วยเหมือนกับสัตว์เป็นโรคอื่นๆ เช่น โรคหวัด ไข้หัดในระยะต้นๆ สุนัขหรือแมวจะหลบไปนอนในที่เงียบๆ ไม่แสดงอาการดุร้าย จะกัดคนหรือสัตว์เมื่อถูกรบกวน หรือเมื่อเอาน้ำ เอายาหรือเอาอาหารไปให้ เมื่ออาการของโรคกำเริบมากขึ้น จะมีอาการอัมพาต ลุกขึ้นเดินไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ และตายในที่สุด และส่วนมากจะตายภายใน 3-6 วัน หลังจากแสดงอาการ ระยะอาการมี ระยะด้วยกัน คือ ระยะเริ่มแรก มีอาการประมาณ 2-3 วัน โดยสุนัขจะมีอารมณ์และอุปนิสัยเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สุนัขที่ชอบคลุกคลีกับเจ้าของจะแยกตัวออกไปหลบซุกตัวเงียบ ๆ มีอารมณ์หงุดหงิด หรือตัวที่เคยขลาดกลัวคนจะกลับมาคลอเคลีย เริ่มมีไข้เล็กน้อย ม่านตาขยายกว้างกว่าปกติ การตอบสนองต่อแสงของตาลดลง กินข้าว กินน้ำน้อยลง ระยะตื่นเต้น คือ เริ่มมีอาการทางประสาท สุนัขจะกระวนกระวาย ตื่นเต้น หงุดหงิด ไม่อยู่นิ่ง กัดแทะสิ่งของ สิ่งแปลกปลอม กัดทุกสิ่งไม่เลือกหน้า ถ้ากักขังหรือล่ามไว้จะกัดกรง หรือโซ่จนเลือดกลบปากโดยไม่เจ็บปวด เสียงเห่าหอนจะเปลี่ยนไป ตัวแข็ง บางตัวล้มลงชัก กระตุก ระยะอัมพาต สุนัขจะมีคางห้อยตก ลิ้นมีสีแดงคล้ำห้อยออกนอกปาก น้ำลายไหล และไม่สามารถใช้ลิ้นได้เลย สุนัขอาจแสดงอาการขยอกหรือขย้อนคล้ายมีอะไรอยู่ในลำคอ ขาอ่อนเปลี้ย ทรงตัวไม่ได้ล้มลงแล้วลุกไม่ได้ อัมพาตขึ้นทั่วตัวอย่างรวดเร็ว และตายในที่สุด (ไม่เกิน 10 วัน หรือภายใน 10 วันหลังแสดงอาการ)
การป้องกันโรค
- การดูแลเมื่อถูกสัตว์กัด
- ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่หลายๆ ครั้ง เบาๆ เพื่อไม่ให้แผลได้รับความกระทบกระเทือน หากเป็นแผลรูลึกอาจใช้สำลีพันปลายไม้หมุนเข้าไปล้างก้นแผลด้วยก็จะดี ทั้งนี้ เพื่อจะล้างเชื้อออกจากแผลให้มากที่สุด 2.
- เช็ดแผลให้แห้งด้วยผ้าสะอาดหรือสำลี แล้วใส่ยารักษาบาดแผลสดประเภททิงเจอร์ไอโอดีน ยาเหลือง ยาแดง หรือแอลกอฮอล์สำหรับเช็ดแผล เท่าที่จะหาได้ในขณะนั้น 3.
- ไปพบแพทย์เพื่อไปรับการรักษาพยาบาล เช่น ฉีดท็อกซอยล์ป้องกันบาดทะยัก ฉีดยา รับยาไปกินเพื่อลดอาการปวดรักษาการติดเชื้อ รวมทั้งการเย็บแผลและการฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีน หรืออิมมูโนโกลบุลิน ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ นอกจากนี้ ต้องจัดการสัตว์เลี้ยงที่เป็นต้นเหตุด้วยควรขังหรือล่ามโซ่ที่แข็งแรงไว้ 10 วัน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและเพื่อดูอาการของสัตว์ หากไม่ตายภายใน 10 วัน ก็แสดงว่าสัตว์นั้นไม่ได้เป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่ถ้าตายในช่วงเวลาที่กักขังแสดงว่า สัตว์นั้นมีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าค่อนข้างสูง เนื่องจากสุนัขและแมวจะขับไวรัสออกมากับน้ำลายประมาณ 3-4 วัน ก่อนแสดงอาการ และตลอดเวลาตั้งแต่แสดงอาการจนกระทั่งตาย ระยะเวลาที่มีไวรัสในน้ำลายจนถึงตายของสุนัขและแมวทุกตัวที่ป่วยด้วยโรคนี้ รวมกันแล้วไม่เกิน 10 วัน จึงมีการนำเอาเกณฑ์นี้ไปตัดสินว่าสุนัข หรือแมวตัวใดที่กัดคนหรือสัตว์แล้วไม่ตายภายใน 10 วัน ก็หมายความว่าสัตว์นั้นไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเกณฑ์นี้เป็นที่ยอมรับกันในวงการแพทย์และสาธารณสุขทั่วโลก แต่หากกักขังสัตว์นั้นไม่ได้ ควรทำลายสัตว์นั้นโดยเร็ว ตามวิธีการที่เห็นว่าเหมาะสม แล้วตัดหัวส่งไปตรวจยังห้องปฏิบัติการที่ใกล้ที่สุด หรือจะส่งให้โรงพยาบาลที่เข้าทำการรักษา จะได้มีกระบวนการประสานงานกับห้องปฏิบัติการหรือหน่วยงานที่มีห้องปฏิบัติการ เพื่อทำการตรวจหาเชื้อพิษสุนัขบ้า วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนที่ฉีดในคนทั้งก่อนและหลังรับเชื้อเป็นวัคซีนชนิดเดียวกัน ทำจากการฉีดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าลงบนเซลล์เพาะเลี้ยง แล้วทำให้อ่อนกำลังลงโดยสาร Beta propiolactone แล้วนำไปทดสอบความปลอดภัยโดยต้องปราศจากเชื้ออื่น มีประสิทธิภาพและความคุ้มโรคสูง
- วัคซีนที่ใช้อยู่ในขณะนี้มี 3 ชนิด คือ
- Human Diploid Vaccine (HDVC) ฉีดเขากล้ามเนื้อต้นแขน ครั้งละ 1 หลอด (1 มิลลิลิตร)
- Purified chick-Embryo Cell Vaccine ฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน ครั้งละ 1 หลอด (1 มิลลิลิตร)
- Verorab Tissue culture Rabies Vaccine ฉีดเข้ากล้ามเนื้อแขน ครั้งละ 1 หลอด (0.5 มิลลิลิตร) วัคซีน 3 ชนิดนี้ ใช้ฉีดได้ในปริมาณที่เท่ากันทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ นอกจากนั้น ยังใช้กับสตรีที่ตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยด้วย และสามารถใช้ทดแทนกันได้ ในกรณีเริ่มต้นด้วยวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งมาก่อนแล้วหมดลงกระทันหัน ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคนี้ที่ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยง มีประสิทธิภาพดี มีความคุ้มโรคสูง มีการยืนยันแล้วว่าในประเทศไทยมีสุนัขเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ ดังนั้นหากบ้านไหนเลี้ยงสุนัขล่ะก็ ควรนำสุนัขไปฉีดวัคซีนตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป ในแมวอาจเริ่มที่อายุ 3 เดือน ควรฉีดกระตุ้นอีกครั้งในช่วงอายุ 3-6 เดือน และฉีดซ้ำทุกๆ ปี ส่วนในคนนั้น
- การป้องกันโรคแบ่งได้ 2 ขั้นตอน คือ ก่อนรับเชื้อและหลังรับเชื้อ
- การป้องกันก่อนรับเชื้อ ซึ่งคล้ายกับวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานโรคขึ้นมา แต่การฉีดวัคซีนก่อนการรับเชื้อนี้จะไม่ทำในคนทั่วไป เพราะสิ้นเปลืองมาก จึงทำกันเฉพาะในกลุ่มความเสี่ยงสูง เช่น สัตวแพทย์ที่ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ บุรุษไปรษณีย์ พ่อค้าในการขายสัตว์เลี้ยง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เป็นต้น
- การป้องกันหลังรับเชื้อ ไม่ถือว่าเป็นการรักษาเหมือนโรคอื่นๆ โดยทั่วไปจะฉีด 5 ครั้ง เข็มที่ 1 ฉีดในวันแรกที่ไปพบแพทย์ เข็มที่ 2-5 จะฉีดในวันที่ 3, 7,14 และ 30 ตามลำดับ ผู้ที่รับเชื้อบางรายที่ถูกกัดเป็นแผลฉกรรจ์ มีแผลหลายแผล หรือมีบาดแผลที่ใกล้สมองส่วนกลาง หรือมีแผลที่เชื้อไวรัสเข้าสู่เส้นประสาทได้เร็วหรือง่าย เช่น นิ้วมือ ฝ่ามือ ข้อมือ หรือบริเวณศีรษะหรือใบหน้า การฉีดวัคซีนอย่างเดียวไม่พอ จำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบูลินร่วมด้วย เพื่อเป็นการยืดเวลาให้ระยะฟักตัวของโรคนานขึ้น จนกระทั่งร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ทันจากการฉีดวัคซีน ผู้รับเชื้อจะปลอดภัยยิ่งขึ้น การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ การเก็บตัวอย่างส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ เมื่อสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าตายลงให้ตัดหัว หรือถ้าสัตว์นั้นมีขนาดเล็กให้ส่งตรวจ ได้ทั้งตัว ตัวอย่างที่ส่งตรวจต้องใส่ถุงพลาสติกให้มิดชิด ห่อด้วยกระดาษหลาย ๆ ขั้น และใส่ถุงพลาสติก อีกชั้นหนึ่ง ปิดปากถุงให้สนิท เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจาย จากนั้นนำใส่ภาชนะเก็บความเย็น ที่บรรจุน้ำแข็ง ปิดฉลาก ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ผู้ส่งตรวจ และวัน เดือน ปี ที่เก็บตัวอย่างส่งตรวจให้ชัดเจน รีบนำส่งห้องปฏิบัติการทันที สิ่งที่ต้องระวังคือ ผู้ที่ตัดหัวสัตว์ต้องไม่มีแผลที่มือ และต้องใส่ถุงมือยางหนา ซากสัตว์ที่เหลือให้ฝังดินลึกประมาณ 50 ซม. มีดที่ใช้ตัดหัวสัตว์ เครื่องมือที่ใช้ต้องต้มให้เดือด 30 นาที เพื่อฆ่าเชื้อ และบริเวณที่ตัดหัวสัตว์ต้องล้างทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
- การเก็บตัวอย่างส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้าในผู้ป่วย
- ในกรณีที่ผู้ป่วยยังมีชีวิตอยู่
- น้ำลาย : เก็บน้ำลายตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ และเก็บเป็นระยะ ในวันที่ 4, 5, 6, 12 และ 24 หลังเริ่มแสดงอาการ โดยวิธี Suction จากบริเวณต่อมน้ำลาย หรือเก็บจากน้ำลายที่ไหลออกมาใส่ภาชนะปราศจากเชื้อประมาณ 5 - 10 มล.
- ปมรากผมท้ายทอย : ถอนเส้นผมให้ติดปมรากผมจากบริเวณท้ายทอย ประมาณ 10-20 เส้น ใส่ภาชนะปราศจากเชื้อ
- ปัสสาวะ : เก็บตั้งแต่มีอาการและเก็บเป็นระยะ ๆ เช่นเดียวกับการเก็บน้ำลายในข้อ 1.1 ใส่ใน ภาชนะปราศจากเชื้อ ประมาณ 20 มล.
- น้ำไขสันหลัง : เก็บน้ำไขสันหลังประมาณ 3-5 มล. ในวันที่ 7 และ 14 หลังจากเริ่มมีอาการใส่ ภาชนะที่ปราศจากเชื้อ
- น้ำเหลือง : เจาะเลือดประมาณ 5 มล. ใส่ในภาชนะที่ปราศจากเชื้อ 2.
- ในกรณีที่ผู้ป่วยเสียชีวิต
- ชิ้นเนื้อท้ายทอย : ตัดชิ้นเนื้อบริเวณท้ายทอยแช่ในน้ำเกลือ (0.85% NaCl) ใส่ในภาชนะปราศจากเชื้อ
- เซลล์กระจกตา : นำสไลด์ที่สะอาดปราศจากเชื้อที่ได้ทำเครื่องหมายไว้แล้ว แตะบนกระจกตาของ ผู้ป่วยจำนวน 3 แผ่น ๆ ละ 2 จุด ทิ้งให้แห้งที่อุณหภูมิห้อง 10 นาที
- เนื้อสมอง : ให้เก็บเนื้อสมองส่วน Hippocampus และ Brain stem ใส่ภาชนะปราศจากเชื้อ
- ในกรณีที่ผู้ป่วยยังมีชีวิตอยู่
คาถา 5ย กันสุนัขกัด
- ย1 อย่าแหย่ สุนัขให้โมโห
- ย2 อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขตกใจ
- ย3 อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า
- ย4 อย่าหยิบ จานข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะสุนัขกำลังกินอาหาร
- ย5 อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้สุนัขที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ
แหล่งอ้างอิง : กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรคติดต่อ. โรคพิษสุนัขบ้าและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง.(กรุงเทพฯ): กระทรวงสาธารณสุข. (จุลสาร)
เครดิตภาพ : http://www.bangklamhospital.go.th/site2/index.php/news-relations/rabies